ผู้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ปี 2566 เข้าพบผู้บริหารกรมส่งเสริมการเกษตร
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 6 กรมส่งเสริมการเกษตร นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้เกียรติแก่สมาคมฯ ในการให้การต้อนรับ นายสุรพล จารุพงศ์ นายกสมาคมยุวเกษตรกรสากลแห่งประเทศไทย (IFYE Thailand) และกรรมการ ในการนำยุวเกษตรกร และเยาวชนเกษตร ซึ่งได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ปี 2566 ของสมาคมฯ จำนวน 4 คน ได้แก่ 1) นางสาวธันยากร วงศ์หงส์
2) นายพงศกร เบียดนอก 3) นางสาวสิริยากร ธรรมจิตร์ และ 4) นายชาคริต อุดมเดช เข้าพบเพื่อรับคำแนะนำในโอกาสจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา และไต้หวัน
ในการนี้ ท่านรองอธิบดีฯ ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมคำแนะนำที่เป็นประโยชน์และประทับใจอย่างยิ่ง สรุปได้ว่า การเกษตรมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเป็นอาชีพที่ผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงมนุษยชาติของโลก โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำงานกับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมให้ผลิตผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้ประชาชนในชาติมีอาหารเพียงพอ ภาคเศรษฐกิจทั้งการค้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆ มีสินค้าและวัตถุดิบเพียงพอ รวมทั้งการส่งออก สมกับคำกล่าวที่ว่าเกษตรกรคือกระดูกสันหลังของชาติ (Back Bone) หากแต่สัดส่วนรายได้ของภาคเกษตรต่อ GDP ของประเทศไม่ได้ถูกนับตามมูลค่าที่ถูกต้องเกิดเป็นภาพลวงตาทางเศรษฐกิจ อีกทั้งจำนวนเกษตรกรไทยกำลังลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเกษตรกรรุ่นปัจจุบันสูงอายุ และคนรุ่นใหม่ไม่เข้าสู่ภาคการเกษตร โดยในอีก 15 ปี ข้างหน้า จำนวนเกษตรกรไทยอาจจะลดลงเหลือประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งสวนทางกับความต้องการผลผลิตทางการเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมียุวเกษตรกร โดยการพัฒนายุวเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (New Back Bone) ซึ่งใช้เทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรฐานการผลิตทางเกษตรไทยอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งยุวเกษตรกร/เยาวชนเกษตรไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศเปรียบเสมือน “ทหารยุวชนเกษตรไปหาความรู้และประสบการณ์จากต่างประเทศ” จึงขอให้น้องๆ มีความรักในอาชีพการเกษตร ประชาชน และแผ่นดิน แล้วกลับมาร่วมกันพัฒนาการเกษตรไทยแนวใหม่ นอกจากจะเป็นกระดูกสันหลังแล้ว ยังเป็นไขสันหลัง และสมองของชาติต่อไป ทั้งนี้ ภายใต้แนวทาง “Keep going keep growing” กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตระหนักถึงปัญหาผลผลิตที่เป็นวัตถุดิบถูกกดราคาโดยธรรมชาติของกลไกการตลาด จึงจะเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อเปลี่ยนการทำการเกษตรให้เป็นทุน การท่องเที่ยว และบริการ ได้แก่ การจัดการผลผลิตเพื่อการท่องเที่ยว โรงงานแปรรูป การจัดการ Homestay และการเป็นผู้ส่งออก “ขอให้กลับมาช่วยกัน”
ในโอกาสเดียวกันนี้ นายกสมาคมฯ ได้นำเรียนท่านรองฯ โดยสังเขปว่า สมาคมฯ ตระหนักถึงความร่วมมือ 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร มูลนิธิส่งเสริมยุวเกษตรกรไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมาคมฯ เพื่อนำพายุวเกษตรกรไทยสู่สากลให้ได้ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นการสร้างกลุ่มเป้าหมายเพื่อร่วมกิจกรรม/โครงการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ซึ่งรวมเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และยุวเกษตรกรในสถาบันอุดมศึกษาด้วย การขยายเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยในต่างประเทศ
สมาคมฯ ได้ส่งคณะไปเข้าร่วม The 4th Asia 4-H Network Conference เมื่อวันที่ 22 – 26 พฤษภาคม 2566
ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน และจะไปเข้าร่วม The 12th World IFYE Conference 2023 ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 2 กันยายน 2566 ณ สาธารณรัฐออสเตรีย การประชาสัมพันธ์ในหลายๆ ช่องทาง รวมทั้งการจัดกิจกรรมเพื่อหารายได้
ในการดำเนินกิจกรรมของสมาคมฯ ได้แก่ การขอรับการบริจาค การจัดการแข่งขันโบว์ลิ่งการกุศลในวันที่ 22 ตุลาคม 2566 และการจัดการทัศนศึกษาวิถีเกษตรยุวเกษตรกรไทยให้แก่ชาวต่างประเทศในปี 2567 ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งการการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และข้อมูลความต้องการในการพัฒนายุวเกษตรกรผ่านการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศเป็นสำคัญด้วย

























Previous
Next